วันจันทร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2559

งานประติมากรรมไทย (Thai Sculpture)



                        งานประติมากรรมไทยเป็นงานที่เกี่ยวข้องหรือรับใช้ศาสนาอันเป็นศาสนาประจำชาติมาแต่ดั้งเดิม จึงมักมีงานอยู่ 2 แบบคือ งานประติมากรรมเกี่ยวกับพระพุทธรูป โดยทั่วไปมักเรียกงานว่าปฏิมากรรม (ซึ่งเป็นงานที่เด่นที่สุด) และงานประติมากรรมตกแต่งอาคารสถานที่ เหตุที่นำเอาพระพุทธรูปมาเป็นหลักในการศึกษาประติมากรรมไทยเพราะเหตุว่า

1. มีความงดงามถึงขั้นสูงสุด (Classic) ตามแบบอุดมคติ
2. มองเห็นความแตกต่างของฝีมือแต่ละสกุลช่างได้ชัดเจน
3. มีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด





 สมัยทวารวดี 
        พระพุทธรูปสมัยนี้มีลักษณะที่สำคัญคือ พระเกตุมาลาเป็นต่อมสั้น พระศกเป็นก้นหอยไม่มีไรพระศก พระขนงยาวเหยียด พระพักตร์แบนกว้าง พระโอษฐ์หนา พระหนุป้าน จีวรบางแนบติดกับองค์พระ มีพระหัตถ์และพระบาทใหญ่

 สมัยศรีวิชัย 
          มีลักษณะที่สำคัญคือ พระพุทธรูปสมัยนี้มีน้อยแต่มีรูปจำลองของพระโพธิ์สัตว์เป็นจำนวนมาก เพราะศาสนาพุทธนิกายมหายานนับถือพระโพธิสัตว์

 สมัยลพบุรี 
          เป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นโดยได้รับอิทธิพลจากชนชาติขอมมีลักษณะของพระเกตุมาลาเป็นต่อมเหมือนสมัยทวารวดีหรืออาจเป็นรูปก้นหอย เป็นรูปคล้ายฝาชีครอบเป็นกระบังคล้ายมงกุฎเทวรูป หรือเป็นรูปดอกบัวมีกลีบรอบ ๆ บ้าง แต่จะมีไรพระศกเสมอ และทำเป็นเส้นใหญ่กว่าสมัยศรีวิชัย พระพักตร์กว้างเป็นเหลี่ยม พระโอษฐ์แบะ พระหนุป้าน ชายสังฆาฎิยาว พระกรรณยาวจนจดพระอังสา พระขนงต่อกันเป็นรูปปีกกา

 สมัยเชียงแสน
           ถือว่าเป็นการสร้างพระพุทธรูปแบบไทยแท้เป็นสมัยแรก แบ่งออก 2 รุ่นคือ
แบบเชียงแสนรุ่นแรกพระพุทธรูปสมัยนี้ได้รับการยกย่องว่ามีความงามทัดเทียมกับพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย (ซึ่งเป็นสมัยที่ยกย่องว่าสร้างพระพุทธรูปได้สวยงามที่สุด) บางทีเรียกว่าพระสิหิงค์หรือพระสิงห์ พระพุทธรูปสมัยเชียงแสนรุ่นแรกมีลักษณะดังนี้คือนิยมสร้างให้มีพระวรกายอวบอ้วน ,ประทับนั่งแบบขัดสมาธิเพชร,พระหัตถ์มีลักษณะแบบกลมกลึง, พระพักตร์อูมอิ่ม พระหนุเป็นปม
พระขนงโก่ง พระนาสิกงุ้ม พระโอษฐ์เล็ก, พระอุระนูน, สังฆาฏิสั้นเหนือพระอุระ,พระรัศมีเป็นต่อมกลม เม็ดพระศกเป็นต่อมกลมใหญ่หรือเป็นก้นหอยไม่มีไรพระศก

สมัยสุโขทัย 
           ถือว่าเป็นสมัยที่การสร้างพระพุทธรูปได้เจริญถึงขั้นสูงสุด (Classic) ได้มีการแบ่งลักษณะพระพุทธรูปออกเป็น 5 แบบ หรือ 5 หมวด ที่สำคัญคือ
- หมวดใหญ่  มีลักษณะพระพักตร์รูปทรงกลมหรือบางทีก็สร้างคล้ายรูปไข่ พระนลาฏกว้างสมส่วนกับพระปรางค์ พระเกตุมาลาหรือพระรัศมีทำเป็นเปลวสูง พระอังศากว้างดูผึ่งผาย พระอุระนูนเล็กน้อย นิยมนั่งขัดสมาธิราบ
-หมวดพระพุทธชินราช ซึ่งได้สร้างขึ้นในขณะที่ศาสนาพุทธในกรุงสุโขทัยมีความเจริญรุ่งเรืองที่สุด และนับว่าเป็นพระพุทธรูปที่สร้างได้สวยงามที่สุดของสมัยสุโขทัย ตัวอย่างเช่น พระพุทธชินราช ที่วัดใหญ่หรือวัดพระศรีรัตนมหาธาตุพิษณุโลก มีลักษณะพระพักตร์และนลาฏกว้าง รับกับส่วนพระปรางค์ซึ่งดูอิ่มเอิบ ลักษณะยิ้มละไม

สมัยอยุธยา 
     แบ่งออกเป็น 2 รุ่น คือ
  - แบบอยุธยารุ่นแรก หรือแบบอู่ทอง ได้รับอิทธิพลจากสมัยสุโขทัยและยังรับเอาอิทธิพลศิลปะแบบลพบุรีขอมเข้าไปด้วย พระพุทธรูปมีลักษณะพระโอษฐ์หนาและพระขนงขมวดดูเคร่งขรึม พระหนุป้าน พระเกตุมาลาหรือพระรัศมีมีทั้งเป็นต่อมกลมแบบลพบุรีและเป็นเปลวแบบสุโขทัย เส้นพระศกละเอียดมีไรพระศก
ชายสังฆาฏิยา ขัดสมาธิราบ ฐานเป็นหน้ากระดานแอ่นเป็นร่องเว้าเข้าด้านใน
- แบบอยุธยารุ่นหลัง  เนื่องจากมีสงครามติดพันกับพม่ายาวนาน ความประณีตในการสร้างงานศิลปะเกี่ยวกับรูปคนเสื่อมลงลักษณะของพระพุทธรูปจึง เสื่อมลงด้วยแต่การตกแต่งดีขึ้นมากจึงเกิดมีพระทรงเครื่องขึ้นในสมัยนี้ คือมีการตกแต่งพระพุทธรูปยืนด้วยการสวมมงกุฎ และตกแต่งองค์พระด้วยเครื่องแต่งกายคล้ายละครหรือเครื่องทรงกษัตริย์ มีสองแบบคือพระพุทธรูปทรงเครื่องใหญ่และพระพุทธรูปทรงเครื่องน้อย ส่วนลักษณะของพระพุทธรูปทั่วไปมักทำพระเกตุมาลาหรือพระรัศมีตามแบบสุโขทัย แต่โดยมากมีไรพระศก และสังฆาฏิใหญ่

 สมัยรัตนโกสินทร์ 
            ในยุคแรกเช่นในสมัยรัชกาลที่ 1 นำพระพุทธรูปจากหัวเมืองเหนือ มาประดิษฐานในกรุงเทพฯ ในสมัยรัชกาลที่ 3 มีการคิดปางพระพุทธรูปเพิ่มขึ้น สมัยรัชกาลที่ 4 สร้างพระพุทธรูปคล้ายคนจริงมากขึ้นเพราะรับอิทธิพลจากตะวันตก ในสมัยรัชกาลที่ 9 พ.ศ.2500 มีการสร้างพระพุทธรูปเพื่อเป็นประธานพุทธมณฑลที่นครปฐม ผู้ออกแบบคือ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี
งานสถาปัตยกรรมไทย (Architecture)
            
           ลักษณะงานสถาปัตยกรรมของไทยนั้น สามารถแบ่งออกตามวัตถุประสงค์ของการก่อสร้าง วัสดุที่ใช้ในการออกแบบ การตกแต่งรวมทั้งลักษณะการใช้งาน ซึ่งจะแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
- สถาปัตยกรรมเกี่ยวกับศาสนา
- สถาปัตยกรรมเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย
              
             สถาปัตยกรรมเกี่ยวกับศาสนา เนื่องจากศาสนาพุทธได้รับการยอมรับให้เป็นศาสนาประจำชาติไทยมาตั้งแต่เดิม ดังนั้นการก่อสร้างให้เป็นสถานที่สำหรับชุมนุมเพื่อประกอบพิธีสำคัญทางศาสนา พร้อมทั้งเป็นสถานที่สำหรับกราบไหว้บูชาของพุทธศาสนิกชนไปด้วย สถาปัตยกรรมที่มีลักษณะเด่นและมีรูปแบบที่ต่อเนื่องมาตลอดจนถึงปัจจุบันคือ สถูปและเจดีย์ซึ่งมีหลักฐานทางศิลปะโบราณวัตถุสถานให้ศึกษาอยู่เกือบทุกสมัยตั้งแต่เริ่มสร้างมา


ที่มา :  http://www.ipesk.ac.th/ipesk/home/VISUAL%20ART/lesson502.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น