จากหลักฐานของงานจิตรกรรมไทยนั้นปรากฏว่าเริ่มต้นตั้งแต่สมัยสุโขทัยและมีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
สมัยสุโขทัย
มีภาพที่แกะสลักหินเป็นลายเส้น ซึ่งเรียกว่าภาพแกะลายเบาอยู่ที่ช่องกำแพงวัดศรีชุม จ.สุโขทัย จิตรกรรมแบบระบายสีในสมัยสุโขทัยก็คือภาพผนังที่วัดเจดีย์เจ็ดแถวอำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ลักษณะของภาพเป็นการเขียนโดยใช้สีแดง สีขาวและสีดำ เข้าใจว่าสีอื่น ๆ เช่น สีเขียวยังไม่มีใช้
สมัยอยุธยา
มีงานจิตรกรรมที่สำคัญ ๆ ดังนี้
- จิตรกรรมสีปูนเปียก (Fresco) ที่ปรางค์วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
- ภาพผนังในเจดีย์วัดพระศรีสรรเพชญ์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
- ภาพผนังในพระปรางค์วัดมหาธาตุ จังหวัดราชบุรี
- ภาพผนังโบสถ์วัดใหญ่สุวรรณาราม จังหวัดเพชรบุรี
นอกจากนั้นยังมีจิตรกรรมฝาผนังที่อื่น ๆ อีกเช่น ที่วัดพุทธไธสวรรย์ จังหวัดอยุธยา วัดเกาะแก้วสุทธาราม จังหวัดเพชรบุรี ภาพในหอเขียนวังสวนผักกาด และเป็นที่น่าสังเกตว่าการเขียนภาพแบบที่มองจากที่สูงหรือแบบนกมอง
สมัยธนบุรี
มีภาพไตรภูมิซึ่งแสดงถึงโลกทั้ง 3 คือ สวรรค์ โลกมนุษย์ และนรก ปัจจุบันนี้ภาพจิตรกรรมไทยในสมุดไตรภูมิของสมัยธนบุรีถูกเก็บรักษาไว้ในพระที่นั่งศิวโมกข์วิมานพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ
สมัยรัตนโกสินทร์
เนื่องจากได้มีการสร้างวัดขึ้นเป็นจำนวนมาก จึงต้องระดมเอาศิลปินมาจากอยุธยาเพื่อช่วยกันเขียนภาพฝาผนังในวัดต่าง ๆ เหล่านั้น รูปแบบการเขียนภาพของศิลปินในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีอิทธิพลต่อการเขียนภาพในสมัยต่อมาอย่างยิ่ง อาจจะเรียกว่าเป็นสมัยสูงสุด (Classic) ของกิจกรรมไทยก็ได้ ดังตัวอย่างจากผลงานของพระที่นั่งพุทธไธศวรรย์ หรือที่วัดสุทัศน์และวัดสุวรรณารามเป็นต้น
สมัยปัจจุบัน
โดยมากมักจะถือเอาสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 เป็นจุดเริ่มต้น ผลงานศิลปะต่าง ๆ ในสมัยนี้ได้รับอิทธิพลจากศิลปะตะวันตกมาเป็นส่วนมาก รวมทั้งงานด้านจิตรกรรมด้วยทำให้มีการประยุกต์วิธีการเขียนภาพและวัสดุต่าง ๆ มาเป็นวัสดุสมัยใหม่ตามแบบตะวันตก เช่นใช้สีอะครีลิคหรือสีน้ำมันแทนสีฝุ่น หรือแม้กระทั่งใช้เทคนิคการพิมพ์ภาพแทนการเขียนภาพ ส่วนรูปแบบในการเขียนก็มีการนำเอาจินตนาการแปลกใหม่มาผสมกับรูปแบบจิตรกรรมประเพณีแบบดั้งเดิม ทำให้ภาพเขียนที่เป็นแบบสมัยใหม่และนำไปตกแต่งอาคารบ้านเรือนได้แทนที่จะปรากฎอยู่แต่บนผนังโบสถ์ วิหาร เช่นแต่ก่อน แนวโน้มของจิตรกรรมไทยคงจะมีการเขียนด้วยรูปแบบที่เหมาะสมกับยุคสมัยไปเรื่อย ๆ และแพร่หลายไปสู่สาธารณะมากขึ้นกว่าสมัยที่ผ่านมา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น