วันจันทร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2559

หลักการเขียนภาพงานจิตรกรรมไทย




1. กนก ภาษาสันสกฤต แปลว่า “หนาม”สำหรับช่างเขียนโบราณ กนก คือ ดงป่าดงไม้ มีแบบฟอร์มคือเปลวไฟเป็นรูปสามเหลี่ยม การฝึกร่างลวดลาย ให้รู้จักความประสานสัมพันธ์กันของเส้นที่ผูกรวมกันเป็นลายไทย โดยเฉพาะกนกแบบต่างๆ เช่น กนกสามตัวกนกใบเทศ กนกเปลว ถือเป็นปฐมบทที่ต้องฝึกฝนให้ชำนาญก่อนที่จะทำการช่างอย่างอื่นต่อไป




2. นารี คือ การเรียนรู้ฝึกฝนเกี่ยวกับการเขียนหน้ามนุษย์ เทวดา นางฟ้า พระ และนางทั้งด้านหน้าตรงและด้านหน้าเพล่ ซึ่งถือว่าเป็นภาพหลักของภาพไทย เมื่อเขียนได้คล่องแคล่วดีแล้ว จึงฝึกเขียนทั้งตัวในอริยาบถต่าง ๆ ภาพเหล่านี้จะแสดงอารมณ์ด้วย กิริยา ใบหน้าของตัวภาพจะไม่แสดงอารมณ์ดังนั้นจึงฝึกฝนเขียนตัวภาพไทยให้งดงามถูกต้องตามแบบแผนของศิลปะไทย นอกจากการฝึกเขียนตัวภาพหลักดังกล่าวแล้ว ยังต้องฝึกการเขียนภาพกากหรือตัวภาพที่เป็นคนธรรมดาและการเขียนภาพจับสำหรับเขียนเรื่องรามเกียรติ์ให้เกิดความชำนาญด้วย





3.  กระบี่ คือ การฝึกเขียนภาพอมนุษย์ต่าง ๆ ได้แก่ พวกยักษ์ วานร เป็นต้น ในการฝึกจะต้องฝึกจากภาพลิงหรือกระบี่เป็นอันดับแรก เมื่อเขียนได้แม่นยำแล้วจึงฝึกเขียนภาพอื่นต่อไป การฝึกเขียนภาพหมวดนี้จะเป็นประโยชน์ในการเขียนภาพเรื่องรามเกียรติ์


        

4. คชะ คือ การฝึกเขียนภาพสัตว์สามัญและภาพสัตว์ประดิษฐ์ต่างๆ โดยเริ่มจากคชะหรือช้างซึ่งเป็นสัตว์ใหญ่ก่อน แล้วจึงฝึกเขียนภาพสัตว์เล็กๆ ต่อไป ในหมวดนี้จะแบ่งสัตว์ที่เขียนเป็นสองประเภท ประเภทแรกคือสัตว์ที่มีอยู่บนโลกมนุษย์ เช่น ช้าง ม้า วัว นก เป็นต้น ประเภทที่สอง คือ สัตว์ประดิษฐ์หรือสัตว์หิมพานต์ เช่น กินรี ราชสิงห์ เป็นต้น



                    กรรมวิธีการเขียนภาพไทย มักเขียนประดับตามฝาผนังโบสถ์ วิหาร ศาลาวัด (Mural Painting) มีวิธีเขียนอยู่ 3 วิธีคือ


1. เขียนสีฝุ่นปูนแห้ง (Tempera)
            เป็นการเขียนโดยการผสมสีฝุ่นกับกาวหนังหรือ กาวกระถิน หรือไข่ขาวผสมน้ำผึ้ง แล้วเขียนลงบนผนังปูนที่ฉาบแห้งสนิทแล้ว สามารถเก็บรายละเอียดของภาพได้ดี ใช้เวลาเขียนนานมาก อายุของภาพสั้นเนื่องจากหลุดลอกได้ง่ายเมื่อโดนน้ำ หรือแสงแดด


2. การเขียนแบบปูนเปียก (Fresco) 
            คือการเขียนสีฝุ่นผสมลงบนผนังปูนหลังจากที่ช่างฉาบเสร็จหมาด ๆ เพื่อให้สีซึมเข้าไปในเนื้อปูน เป็นการเขียนแข่งกับเวลาที่ปูนจะแห้งตัวจึงต้องเขียนอย่างรวดเร็ว เก็บรายละเอียดได้น้อย แต่อายุของภาพจะยาวนานกว่าแบบแรก และลักษณะของภาพจะเป็นช่อง ๆ จึงไม่เป็นที่นิยมมากนัก


3. การเขียนแบบลงรักปิดทอง 
           หรือการเขียนแบบสีฝุ่นผสมการปิดทองเพื่อเน้นจุดเด่นในภาพ เช่นงานเขียนลวดลายตู้พระธรรม ตู้พระไตรปิฎก




ที่มา :  https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A8%E0%B8%B4%E0%B8%A5%E0%B8%9B%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น